โยคะวัยทอง คลายปวดเมื่อย ช่วยบรรเทาอาการป่วยได้มากกว่าที่คิด
การออกกำลังกาย สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือ ผู้ใหญ่วัยทอง ก็สามารถที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งวิธีที่จะทำให้สุขภาพแข็งแรงนั้นมีหลายอย่างมาก มีทั้งแบบฝึกร่างกายให้ชินกับความเหนื่อย หรือ การเตรียมรับมือกับโรคภัยต่าง ๆ ให้ร่างกายพร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ ส่วนอีกประเภทก็คือ การฝึกทั้งร่างกาย จิตใจ สมาธิ เข้าด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า “โยคะ” นั่นเอง ซึ่งวันนี้จะมาเอาใจคนวัยทอง กับการคลายปวดเมื่อด้วย “ โยคะวัยทอง ” ที่จะช่วยให้คุณได้บรรเทาอาการเจ็บป่วยได้มากกว่าที่เห็น ซึ่งจะมีวิธีการอย่างไร พร้อมทั้งจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ถ้าคุณเองสนใจไม่ควรพลาดกับบทความดี ๆ แบบนี้
วัยทองคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร
หนึ่งในช่วงอายุคนที่เราจะต้องเจอกันทุกคน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึง นั่นก็คือ ช่วงเวลาวัยทอง สำหรับในช่วงนี้ ลูกหลาน หรือ แม้แต่คนสนิทรุ่นน้อง ก็ยังมองว่าตัวเราเองมักจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน หรือ จากเป็นคนที่ง่าย ๆ สบาย ๆ แต่กลับเรื่องเยอะซะอย่างนั้น แล้ววัยทองคืออะไร ? ใครที่อายุยังไม่เข้าเกณฑ์ หรือ ใกล้แล้ว ก็ลองอ่านกันดูได้ เพราะจะได้เตรียมรับมือได้ถูกต้อง
ความหมายของ “วัยทอง” จะหมายความได้ว่า เกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิง กับ เพศชาย ในช่วงอายุ 40-59 ปี โดยในช่วงนี้จะอยู่ในวัยที่เจริญพันธุ์ ไปจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงที่ความสามารถในการผลิตฮอร์โมนเพศในร่างกายลดลง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รวมทั้งมีโอกาสที่จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพได้ง่าย ตัวอย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และ เบาหวาน เป็นต้น
รู้ลึก “สตรีวัยทอง” สำคัญมาก
อ่านถึงตรงนี้จะขอขยายความถึงเรื่อง “สตรีวัยทอง” กันสักเล็กน้อย เพราะว่าผู้หญิงในช่วงที่หมดประจำเดือน จะอยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี เช่นเดียวกัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง เพราะว่ารังไข่หยุดทำงาน ดังนั้นการสิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร ก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยา ที่แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกันดังนี้
- ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause) ในช่วงนี้เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือน ส่งผลให้สตรีที่มีประจำเดือนมาแบบผิดปกติ จะมีอาการร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน จะมีอาการแบบนี้อยู่ประมาณ 2-3 ปี เลยทีเดียว
- ระยะหมดประจำเดือน (menopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้ว เป็นเวลา 1 ปี
- ระยะหลังหมดประจำเดือน (post menopause) สำหรับในช่วงนี้จะเป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หมดประจำเดือนไปแล้ว 1 ปี การเปลี่ยนแปลงของร่างกายจะเกิดขึ้น เช่น เป็นโรคกระดูกพรุน รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ง่าย นั่นเอง
อาการของผู้หญิงวัยทอง
สำหรับอาการของผู้หญิงวัยทองนั้น จะแบ่งออกเป็นระยะสั้น ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายอย่างเปลี่ยนไป และอีกหนึ่งกับ อาการในระยะยาว ที่มีปัญหากระทบด้านสุขภาพอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีอาการที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
อาการระยะสั้น
- จะมีอาการนอนไม่หลับ ด้านจิตใจจะหงุดหงิดง่าย รวมทั้งมีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิดเข้ามาเพิ่มเติมด้วย รวมไปถึงมีความกังวลได้ง่ายมาก
- อาการร้อนวูบวาบ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาติดกัน หรือห่างกันมาก สำหรับสตรีบางคนก็มีเลือดออกผิดปกติ
- ช่องคลอดจะแห้ง เพราะว่าระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีปัญหาในการร่วมเพศ มีอาการคัน พร้อมทั้งอาการอักเสบที่จะเกิดขึ้นในช่องคลอด มดลูก รวมไปถึงความต้องการทางเพศลดลงด้วย
- โอกาสที่จะมีลูกนั้นน้อยลง ไปจนถึงไม่มีสามารถมีลูกได้อย่างถาวร เนื่องจากการตกไข่ที่ไม่แน่นอน หลังจากที่ประจำเดือนไม่มาเต็ม 1 ปี
- ผิวหนังจะแห้ง เหี่ยว ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผลง่าย เป็นกระได้ง่าย วิธีทำ โยคะใบหน้าช่วยคืนความอ่อนเยาว์
- เต้านมจะเล็กลง หย่อน ไม่เต่งตึง
อาการระยะยาว
- มีอาการระยะยาวต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด เพราะหลังจากหมดประจำเดือน ร่างกายก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้มากขึ้น เพราะขาดฮอร์โมนสำคัญอย่างเอสโตรเจน ที่ทำหน้าที่ในกาลดไขมันไม่ดีในร่างกายนั่นเอง
- มีความเสี่ยงกระดูกพรุนได้ง่าย เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็จะทำให้เนื้อกระดูกถูกทำลายถึง ร้อยละ 5 ต่อปี จนกลายเป็นโรคกระดูกพรุนได้
- ปัญหาเรื่องทางเดินปัสสาวะ หลังจากที่ได้รับผลกระทบเรื่องกระดูกแล้ว เยื่อบุผนังท่อปัสสาวะก็บางลง ทำให้มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ รวมไปถึงการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วย
- น้ำหนักขึ้น รูปร่างอ้วนขึ้น สาเหตุนี้ก็คือขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่นเดียวกัน เพราะการเผาผลาญไม่ดี ทำให้เกิดไขมันสะสมได้มากขึ้นนั่นเอง
การรักษา “อาการวัยทอง” ที่กล่าวมา
อย่างทีได้รู้อาการของคนวัยทองไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่รับมือได้ค่อนข้างยาก เพราะเกิดขึ้นจากภายใน แต่ทว่าเมื่อเรารู้ตัวเองก่อนว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นก็สามารถที่จะรับมือได้ ด้วยการรักษาอาการต่าง ๆ ของการเกิดอาการวัยทองที่กล่าวมา ซึ่งมีดังต่อไปนี้
อาการร้อนวูบวาบ
เมื่อมีอาการร้อนวูบวาบจากอาการวัยทอง ให้สังเกตพร้อมทั้งจำสาเหตุให้ดี แล้วหลีกเลี่ยงสถานที่ หรือสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกไม่ดีได้ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงให้ไกลจากอาหารรสจัด อาหารร้อน หรือเครื่องดื่มที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัวเช่น คาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งผ่อนคลายจิตใจ ลดความเครียด
อาการช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะบ่อย
อาการนี้คุณผู้หญิงใช้สารหล่อลื่นในการทาช่องคลอด รวมไปถึงวิธีการที่ใช้ครีมเอสโตรเจนทา เพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงในช่องคลอดมากขึ้นก็ทำได้เช่นกัน หรือบางรายอาจจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดนั้นยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย
อาการนอนไม่หลับ และอารมณ์
สำหรับอาการนี้ ถ้าจะแก้ที่ปลายเหตุคือ การใช้ยาลดอาการซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI แต่ถ้าอยากรักษาให้หายขาด หรือไม่ให้กลับมาเป็นอีกก็คือ ต้องหากิจกรรม งานอดิเรก หรืออื่น ๆ ที่ทำให้คุณลดความเครียดลงได้ ทำให้จิตใจ และร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลงได้ แนะนำ ท่าโยคะก่อนนอน ช่วยให้หลับสบาย
อาการกระดูกพรุน
เมื่ออายุที่มากขึ้น แน่นอนเลยว่าร่างกายจะไม่เหมือนสมัยวัยรุ่น หรือวัยทำงานแล้ว จะต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือการทำงานหนัก ต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมกับวิตามินดีสูง
อาการผมร่วง
อาการนี้เกิดจาก เอสโตรเจนฮอร์โมน ที่หยุดสร้าง ดังนั้นแล้วเพื่อยับยั้งไม่ให้ผมร่วง ก็ต้องสร้างไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน ที่เป็นสาเหตุทำให้รากผมอ่อนแอนั่นเอง พร้อมทั้งบำรุงเส้นผมอย่างสม่ำเสมอ
สรุปได้ว่าเรื่องของ “วัยทอง” เกิดขึ้นเมื่อมีการลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลง ซึ่งการเกิดอาการต่าง ๆ ก็มีทั้งแบบแก้ไขได้ รักษาได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายข้อที่ยังต้องทำใจยอมรับว่าไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้แล้ว แต่ทว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้หญิงบางกลุ่มได้หันมาใช้ฮอร์โมนที่ทดแทนกัน เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะช่วยทำให้ป้องกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ด้วยเช่น โรคหัวใจ หรือ โรคมะเร็งนั่นเอง
แต่ทว่าสำหรับคุณผู้หญิงที่เตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง หรือตอนนี้อยู่ในช่วงอายุที่กำหนดแล้ว พวกเรายังมีอีก 1 วิธี ที่จะทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรง มีสมาธิ มีความสงบ ไปพร้อม ๆ กัน นั่นก็คือ “การเล่นโยคะ” นั่นเอง แน่นอนว่าใครที่กำลังเข้าสู่ช่วงนี้ก็คงมองหาคำตอบว่า การเล่นโยคะ จะช่วยอะไรได้บ้าง เราไปดูคำตอบของเรื่องนี้ไปพร้อมกันได้เลย
โยคะ ช่วยบำบัดอาการวัยทองได้อย่างไร
นี่คือคำถาม ที่คนวัยทอง หรือ กำลังจะเข้าวัยทองต้องถามหา เพราะว่าสุขภาพร่างกายเริ่มไม่เหมือนเดิม บางคนปวดขา ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย จะให้มาเล่นโยคะ ทำท่า ฝึกสมาธิ จะไม่เป็นหนักกว่าเดิมหรือ ? ขอบอกเลยว่าอยู่ที่สภาพร่างกาย จิตใจ เพราะ “โยคะ” จะประสานทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันอย่างลงตัวนั่นเอง
โยคะ ไม่หนักอย่างที่คิด
สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 40-50 นั้น ร่างกายก็เริ่มที่จะโรยราลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการออกกำลังกายแบบหนัก ๆ จะให้ไปวิ่ง หรือฟิตเนส สำหรับบางรายก็คงไม่สะดวก เนื่องด้วยเวลาที่ยังต้องทำงาน หรือ มีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำ ก็คงต้องหันมาพึ่งการออกกำลังกายที่ใช้สถานที่น้อย แถมยังได้ปรับอารมณ์ ปรับลมหายใจ และสร้างร่างกายที่แข็งแรงด้วยการ “เล่นโยคะ” นั่นเอง ซึ่งการเล่นโยคะ ในผู้ใหญ่วัยทองนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะบางรายอาจจะได้สัมผัสเกี่ยวกับการเล่นโยคะมาบ้าง ก็พอจะทราบกันดีว่าข้อดีของการเล่นโยคะเป็นประจำ จะได้ประโยชน์ดังต่อไปนี้
- การเล่นโยคะ จะฝึกร่างกายให้แข็งแรง ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ยิ่งอายุมาก ไม่ต้องออกกำลังกายหนัก ๆ ร่างกายก็สามารถหมุนเวียนเลือด ลมหายใจ ในร่างกายได้ดี คุณอาจสนใจ 8 ท่าโยคะช่วยลดอาการปวด
- การเล่นโยคะ ไม่ต้องกดดัน ค่อย ๆ ทำท่าทางตามไป แถมยังทำได้ที่บ้าน บรรยากาศสุดแสนสบาย
- การเล่นโยคะ จะช่วยชะลอผลกระทบของความชรา ซึ่งจะรักษาสภาพร่างกาย จิตใจ เอาไว้เป็นหนึ่งเดียว มีสติ และตื่นตัวอยู่เสมอ
- ความเครียด ความเหนื่อยล้า จะหายไป เพราะการเล่นโยคะ จะช่วยฝึกลมหายใจ ฝึกการกำหนดวินัยประจำวัน สิ่งเหล่านี้คือข้อดีที่จะช่วยให้ คนวัยทอง ใช้ชีวิตได้อย่างแฮปปี้เหมือนคนทั่วไป
หลังจากที่ได้ฟังประโยชน์ของการเล่นโยคะกันไปแล้ว คงจะทราบกันดีแล้วใช่ไหมว่า การเล่นโยคะ การฝึกลมหายใจ จะส่งผลดีต่อผู้ฝึกเป็นอย่างมาก จิตใจที่สงบขึ้น ร่างกายที่ดีขึ้น พร้อมทั้งความเครียดที่หายไป ทำให้ “โยคะวัยทอง” เป็นสิ่งที่ลงตัวมากที่สุดในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่าพวกเราก็ไม่พลาดที่จะมาแนะนำ ท่าโยคะ ที่ผู้ใหญ่วัยทองสามารถทำได้อย่างสบาย อีกทั้งได้ประโยชน์อีกเพียบ
5 ท่าโยคะวัยทอง ช่วยลดอาการปวดเมื่อย เพิ่มความผ่อนคลายให้กับร่างกาย
สำหรับท่าโยคะ มีมากมายหลายท่า แต่สำหรับวันนี้ พวกเราจะมา แนะนำ 5 ท่าโยคะวัยทอง ที่จะช่วยลดอาการปวดเมื่อย รวมไปถึงการเพิ่มความผ่อนคลายให้กับร่างกาย ที่สำคัญ ทำง่าย ไม่เครียด หายใจสบาย ซึ่งจะมีท่าอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านกันได้เลย กับ 5 ท่าโยคะวัยทอง ช่วยลดปวดเมื่อย
ท่าที่ 1 Bridge Pose
สำหรับท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อร่างกายได้เกือบทุกส่วน เริ่มจากหน้าท้อง, หลัง, สะโพก, แขน รวมไปถึงไหล่ โดยจะต้องเริ่มที่ท่านอนหงายราบลงไปกับพื้น ต่อมาก็ชันเข่าขึ้น แล้วก็แยกเท้าให้อยู่ในแนวเดียวกันกับสะโพกของเรา ต่อจากนั้นวางแขนแนบกับลำตัว ค่อย ๆ ยกสะโพกขึ้นสูงจนก้นกบนั้นอยู่ในแนวเดียวกับหัวเข่า ส่วนตรงหน้าอกจะให้อยู่เหนือไหล่ ทำค้างไว้สักพักหนึ่ง พร้อมกำหนดลมหายใจให้ดี แล้วค่อยวางตัวลงกับพื้น
ท่าที่ 2 Cobra Pose
ในท่า Cobra Pose มีชื่อเสียงเรื่องช่วยลดอาการปวดหลังได้ดี เพราะว่ากล้ามเนื้อหลังบริเวณบ่า จะยืดได้ดีในท่านี้ ซึ่งเริ่มทำโดยจากท่านอนคว่ำ วางฝ่ามือทั้งสองข้างนบพื้นที่ระดับหน้าอก จากนั้นก็หายใจเข้า พร้อมกับเหยียดแขนตรง ยกลำตัวด้านบนขึ้นจากพื้น หลังเหยียดตรง ค้างเอาไว้ท่านี้สักพัก ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ท่านอนคว่ำ
ท่าที่ 3 Crescent Moon Pose
ท่านี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัว โดยจะเริ่มในท่ายืน หรือนั่งอยู่บนเก้าอี้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งเริ่มที่การยืนหลังตรง หายใจเข้าแบบช้า ๆ พร้อมกับยืดแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะ ก่อนที่จะหายใจออก แล้วเอนตัวไปด้านข้าง ค้างเอาไว้ท่านี้สักพัก แล้วค่อยเอนตัวสลับไปอีกข้างหนึ่ง
ท่าที่ 4 Knees to Chest Pose
สำหรับในท่าที่ 4 นี้ จะเป็นท่าที่ช่วยในการยืดกระดูกสันหลังได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดนั้นทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยจะเริ่มที่ท่านอนหงาย พร้อมกับหายใจเข้ากับการยกเข่าข้างใดข้างหนึ่งชิดอก ค้างเอาไว้สักพักเหยียดขาจากนั้นสลับข้าง พร้อมกำหนดลมหายใจให้เป็นจังหวะ
ท่าที่ 5 Forward Bend Pose
ท่าสุดท้ายที่จะช่วยให้คนวัยทอง ที่มีอาการปวดเมื่อยหลัง รวมทั้งกล้ามเนื้อต้นขาเป็นประจำ ให้หายปวดได้ หรือบรรเทาอาการได้ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้ยืดเส้นกับกล้ามเนื้อใต้ขา พร้อมกับลดอาการปวดหัวไหล่ ปวดหลัง โดยจะเริ่มในท่านั่ง พร้อมกับเหยียดขาตรงไปด้านหน้า จากนั้นก็ค่อย ๆ โน้มตัวลงให้หน้าผาก แนบกับต้นขา มือจับปลายเท้า ซึ่งถ้ามีอาการตึงที่หลัง หรือต้นขามากเกินไป ก็งอเข่าขึ้นเล็กน้อยจะช่วยให้ทำท่านี้ได้สบายมากขึ้น
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สำคัญมาก เพราะในช่วงวัยทอง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องประสบพบเจออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ญาติ น้อง หรือ พี่ รวมไปถึงตัวเราเองที่มีอายุใกล้วัยเลข 4 แล้ว ก็ต้องเตรียมตัวรับมือให้ทันเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้กับการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน อีกทั้งยิ่งอายุมากขึ้น สุขภาพร่างกาย ก็จะแย่ลงไปเรื่อย ๆ แต่ยังมีอีกสิ่งที่ช่วยให้คุณยังดูอ่อนกว่าวัยก็คือ การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย ซึ่งการเล่นโยคะจึงเป็นเรื่องสำคัญ และช่วยให้คนวัยนี้ลดอาการปวดเมื่อย และห่างไกลโรคร้ายแรง อยู่กับลูกหลานได้ไปจนถึงวัยชรา
อ้างอิง
- ผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause). https://www.phukethospital.com/th/news-events/menopause/
- 5 ท่าโยคะ สำหรับวัย 40-50 ขึ้นไป หรือวัยทอง ช่วยคลายปวด คลายกล้ามเนื้อดี!. https://women.trueid.net/detail/bqLPlalp3OMq
- โยคะบำบัดวัยทอง. https://www.khampo.com/articles/3/55/article.html